วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้



คำกล่าวสุนทรพจน์ เวลา ๕ นาที
เรื่อง "พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี"
ของสามเณรโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ วัดมิ่งเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
โดย พระมหา ดร.ประภาส ปริชาโน ผู้อำนวยการ

ท่านประธานคณะกรรมการและท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ช่วงเวลาต่อจากนี้ไป กระผม สามเณร...............................................
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่.......... โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ วัดมิ่งเมือง 
อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะได้นำเสนอเรื่องราวอันทรงคุณค่า จากการศึกษาค้นคว้าเรื่อง“พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี”
นับเป็นเวลากว่า ๒๖๐๐ ปีที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา 
เราจึงได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
คือ วันแห่งการตรัสรู้ ซึ่งต่อมาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ถือเป็นวันสำคัญ
ทางพระพุทธศาสนาสากล นั่นคือ วันวิสาขบูชา ปี ๒๕๕๕ นี้
จึงถือเป็นวันบรรจบครบรอบ ๒๖๐๐ ปี สิ่งสำคัญนั้น ชาวพุทธควรจะย้อน
มองกลับไปรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต 
ภายใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากปฐมยามจนถึงมัชฌิมยาม 
พระองค์ต้องต่อสู้กับหมู่เสนามารเพียงลำพังอย่างอดทนจนพ้นผ่าน 
ด้วยพระกำลังอันเกิดจากพระบารีมีที่ทรงบำเพ็ญมานับอเนกชาติไม่ถ้วน 
บัดนี้บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว แม้นหมู่มารก็ต้องพ่ายแพ้ ในที่สุดนั้น
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือใครทั้งปวงของพระองค์ จึงเป็นชัยชนะของ
มนุษยชาติทั้งมวล พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ล้วนเป็นสัจธรรมที่ประเสริฐ 
อันจะทำให้เกิดความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ 
อย่างยั่งยืน

ท่านที่เคารพ ชัยชนะและอิสรภาพ คือความหมายแห่ง พุทธชยันตี 
โดยรากศัพท์ คำว่า พุทธชยันตี มาจากศัพท์ ๒ ศัพท์ คือ พุทธ 
แปลว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับคำว่า ชยันตี 
มาจากคำว่า ชย แปลว่า ชัยชนะ ซึ่งเมื่อนำคำทั้ง ๒ คำ 
มารวมกัน ก็ได้รูปคำใหม่ว่า พุทธชยันตี อันหมายถึง 
ชัยชนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มาร
และกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา 
เมื่อ ๒๖๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว ทำให้พระนามว่า สัมมาสัมพุทธ ปรากฏขึ้นในโลก 
เป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา อันเกิดจากพระปัญญา
อันเป็นเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชนได้มีพระธรรม
เป็นเสาหลักแห่งการดำเนินชีวิต
ธรรมที่ทรงแสดงล้วนให้เกิดความสงบอันหมายถึงสันติภาพแห่งโลก 
ละเว้นความชั่ว ทำความดี ทำจิตให้ผ่องใส จึงเป็นอุดมการณ์ 
หลักการ วิธีการ ที่ชาวพุทธควรน้อมนำมาปฏิบัติถวายเป็นพุทธบูชา
เนื่องในปีมหามงคลเช่นนี้

สวัสดีครับ/ขอเจริญพร

วันเข้าพรรษา



การปวารณาเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา ที่ใช้กันในภาษาไทย เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า "พรรษ
หมายถึง ฝน หรือ ปี แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีจะมาจากคำว่า "วัสสูปนายิกทิวส
วันคือดิถีเป็น เป็นที่น้อมเข้าไปใกล้ซึ่งกาลฝน ดิถีเข้าพรรษาหรือวันเข้าพรรษา
การอยู่จำพรรษาของพระภิกษุ ถือเป็นกิจที่ภิกษุจะต้องปฏิบัติเพราะเป็น
พุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติโทษสัหรับภิกษุผู้ไม่อธิษฐานอยู่จำพรรษาไว้ 
การอธิษฐานอยู่จำพรรษาจึงหมายถึงการที่พระภิกษุอธิษฐานอยู่ประจำในอาวาสใด 
หรือในเสนาสนะที่พอจะกันแดดกันฝนได้ ต้องอยู่ประจำในที่นั้นประจำตลอด
เป็นเวลา ๓ เดือน ไม่เที่ยวจาริกไปค้างคืนในที่อื่นเว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องกลับมา
ให้ทันก่อนอรุณขึ้น ถ้ามีกิจธุระที่เร่งด่วนกลับมาไม่ทันในวันนั้นก็ต้องทำสัตตาหะ 
และต้องกลับมาภายใน ๗ วัน กล่าวสำหรับสามเณรก็ต้องมีการอธิษฐานจำพรรษา 
แต่ไม่มีการปวารณาออกพรรษา เพราะการปวารณาเป็นสังฆกรรม 
และอีกประการหนึ่งสามเณรไม่มีการนับจำนวนพรรษาเหมือนภิกษุ
ประเภทแห่งวันเข้าพรรษา มีอยู่ด้วยกัน ๒ วัน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ 
ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ (ในปีที่เป็นอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน 
ให้เข้าพรรษาวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ หลัง) เรียกกันว่า วันเข้าพรรษาต้น 
หรือปุริมพรรษา หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ทำให้การอธิษฐานอยู่จำพรรษไม่ทันในวันนั้น
ก็ให้เลื่อนการอธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
เดือน ๑๒ เรียกกันว่า วันเข้าพรรษาหลังหรือปัจฉิมพรรษา 
แต่ที่พระภิกษุในไทยของเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติให้ตรงกันนั้น คือ 
การอธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันเข้าพรรษาต้นหรือปุริมพรรษา 
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติให้ตรงกันทุกวัด

ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา
ทางราชการของไทยก็ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการอีกวันหนึ่งด้วย
นอกจากนั้นการอยู่จำพรรษาของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 
ยังอำนวยประโยชน์เพื่อพุทธศาสนิกชนหลายด้านจึงพอที่จะกล่าวความสำคัญ
ของวันเข้าพรรษาที่เป็นหลัก ๆ ได้ดังต่อไปนี้
วันเข้าพรรษา เป็นการอธิษฐานอยู่จำพรรษามีผลทำให้ภิกษุต้องหยุด
การเที่ยวไปค้างแรมในที่อื่น ต้องอยู่ประจำในอาวาสแห่งใดแห่งหนึ่ง
ตามที่ทรงมีพระพุทธานุญาตไว้
การอยู่จำพรรษาของภิกษุในอาวาสนั้น ๆ เป็นเวลา ๓ เดือน เป็นโอกาสที่จะได้
ใช้เวลาช่วงนี้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้าได้เข้ามาบวชเพื่อ
ศึกษาหลักธรรมในทางศาสนาให้ยิ่งขึ้นการอยู่เป็นประจำของภิกษุเป็นโอกาสให้
พุทธศาสนิกชนได้มีการบำเพ็ญบุญกุศลในด้านต่าง ๆ เช่น ทาน ศีล ภาวนาได้สะดอกยิ่งขึ้น
เทศกาลวันเข้าพรรษายังเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนจะได้ลด ละ เลิกอยายมุข
อันเป็นทางแห่งความเสื่อต่าง ๆ ตามหลักของวิรัติ ๓ คือ
สัมปัตตวิรัติ งดเว้นได้เฉพาะหน้า คือแม้สบโอกาสที่จะทำความชั่วได้ แต่ก็มีสติยั้งคิด 
สามารถระงับใจไม่ทำเช่นอาจโกงได้แต่ไม่ทำ อาจฆ่าได้แต่ไม่ฆ่า เป็นต้น
สมาทานวิรัติ งดเว้นได้ด้วยการสมาทาน คือมีเจตนาตั่งใจไว้ว่าจะไม่ทำความชั่ว 
เช่นสมาทานศีลไว้ก็งดเว้นตามที่ตั้งใจไว้ได้
สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด คือไม่ทำตลอดไป ซึ่งเป็นการงดเว้นของพระอริยบุคคล
6.วันเข้าพรรษาเป็นต้นเหตุให้เกิดประเพณีตามมาอีกหลายประเพณี เช่น 
การถวายเทียน การถวายพุ่ม ถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นต้น

การประกอบพิธีเข้าพรรษาในไทย
การประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษาของปวงชนไทย น่าจะมีมาแต่โบราณกาลแล้ว 
แต่มาปรากฎเด่นชัดในครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พิธีนี้มีการกล่าวไว้ในหนังสือ
นางนพมาศว่า "ประชาชนชายหญิงชาวกรุงสุโขทัยนั้นรวมตัวกันไปบำเพ็ญบุญกุศล
ตามวัดต่าง ๆ มีการจัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษาแห่ไปทางบกบ้าง ทางน้ำบ้าง 
มีการตกแต่งและจัดเป็นริ้วขบวนอย่างสวยงาม 
นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดเตรียมของเครื่องใช้ที่สมควรแก่สมณสารูปไปถวายพระภิกษุ
ที่จำพรรษาในวัดนั้น ๆ อีกด้วย"
          สำหรับการบำเพ็ญกุศลของพุทธศานิกชนในปัจจุบันี้เมื่อถึงประเพณี
วันเข้าพรรษาก็จะร่วมกันบำเพ็ญบุญกุศลเป็นพิเศษตั้งแต่ก่อนวันเข้าพรรษาจะมาถึง
มีการร่วมกันหล่อเทียนจำนำพรรษาเพื่อนำไปถวายวัดต่าง ๆ การหล่อเทียนในปัจจุบันนี้
เท่าที่เห็นในปัจจุบันทางวัดจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ มีการจัดเตรียมสีผึ้งไว้
ให้ประชาชนได้มราร่วมหล่อเทียนกันที่วัด เมื่อเสร็จแล้วก็จะร่วมกันแกะสลักต้นเทียน
ที่หล่อนั้นอย่างสวยงาม มีการจัดขบวนเพื่อแห่เทียนนั้นพร้อมกับมีการละเล่น
ตามธรรมเนียมนิยมของแต่ละท้องถิ่นเป็นที่เอิกเกริกเฮฮาสนุกสนาน 
เสร็จแล้วก็นไปถวายพระสงฆ์
          ในบรรดาการจัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ในปัจจุบันนี้จังหวัดที่ถือว่า
จัดเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นงานระดับประเทศ มีนักท่องเทียวทั้งชาวไทย
และชาวต่างชาติให้ความสนใจไปเที่ยวชมและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
ก็คืองานแห่เทียนจำนำพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
          เมื่อถึงวันเข้าพรรษาก็มีการจัดเตรียมพุ่มซึ่งภายในก็จะบรรจุของใช้ที่จำเป็น
และเหมาะสมกับพระภิกษุสามเณรจะใช้สอยได้และผ้าอาบน้ำฝนไปถวาย 
การถวายถ้าของมีมากกว่าภิกษุ-สามเณรก็จะมีการทำเป็นสลากให้ภิกษุ-สามเณรจับสลากก่อน 
เมื่อจับได้ของทายกทายิกาท่านใดก็รับพุ่มของผู้นั้น แต่ในบางแห่งก็แล้ว แต่ว่าจะถวาย
องค์ใดก็สุดแต่เจ้าภาพ นอกจากนั้นการถวายเทียนจำนำพรรษาในปัจจุบัน 
ก็มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะบรรดาร้านค้าต่าง ๆ ได้จัดทำเทียนพรรษาขนาดต่าง ๆ 
ให้ผู้มีศรัทธานำไปถวายเป็นจำนวนมาก แต่บางท่านก็มีความคิดว่า 
ในสมัยปัจจุบันนี้ความจำเป็นในการใช้เทียนน้อยลง เพราะวัดต่าง ๆ 
ใช้ไฟฟ้ากันเป็นส่วนใหญ่ จึงนำอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น ฟลอดไฟไปถวายแทนเทียนก็มี 
ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว เป็นการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย
          นอกจากนั้น ในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน พุทธศาสนิกชนก็จะมีความตั้งใจ
เป็นพิเศษในการทำบุญทำกุศล เช่นทำบุญใส่บาตรตอนเช้าทุกวัน งดเว้นการดื่มสุรา
และการเที่ยวเตร่ ตอนกลางคืน สำหรับพุทธศาสนิกชนบางท่านที่ไม่มีภาระที่ห่วงมาก
ก็อาจจะมีการไปนอนค้างที่วัดในวันพระ เพื่อสมาทานรักษาอุโบสถศีลและในวันเข้าพรรษานี้ 
ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้ร้านค้างดการจำหน่ายสุรา และขอให้ประชาชนงดเว้นการดื่มสุรา 
และงดเว้นอบายมุกทุกอย่าง ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่พอใจพอสมควร แต่ถ้าหากมีการรณรงค์กัน
อย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี คงจะทำให้ได้ผลดีกว่าที่เป็นอยู่
          วันเข้าพรรษา ในส่วนของพระราชพิธีนั้น ถือเป็นพระราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล 
แต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีดังมีใจความตามที่ปรากฎในหนังสือนางนพมาศ 
พอประมวลได้ว่า "เมื่อถึงเดือน ๘ นักขัตฤกษ์บูชาใหญ่ มีการประกอบพิธีอาสาธมาศ
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจะอยู่จำพรรษาทุกอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
จึงมีพระดำรัสสั่งให้จัดแจงตกแต่งพระอารามหลาวงทุกแห่ง แล้วทรงถวายทานแด่พระสงฆ์ 
เช่นผ้าจำนำพรรษา สลากภัตร คิลานภัตร และเทียนจำนำพรรษา เป็นต้น ทรงบูชาพระบรมธาตุ 
พระพุทธปฏิมากรตลอดไตรมาส ถวายธูปเทียน น้ำมันเติมประทีปแด่พระสงฆ์
ที่จำพรรษาในพระอารามหลาง ทั้งในเมืองและนอกเมืองทุกพระอาราม"๑ 
(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่กัว พระราชพิธี ๑๒ เดือน, ๒๔๙: ๔๘๕ - )
          ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วันเข้าพรรษานี้มีการสวดอย่างหนึ่งเรียกว่า 
สวดโอ้เอ้วิหารลาย คือ การสวดมหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม 
ส่วนการประกอบพระราชพิธีในปัจจุบันเรียกกันว่า พระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลวันเข้าพรรษา
มีงานตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยังพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนจำนำพรรษา ถวายพุ่มเทียนบูชา
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นทรงประเคนพุ่มเทียนแด่พระสงฆ์ 
ในปัจจุบันนี้นิมนต์พระราชาคณะขึ้นไป เข้ามารับพุ่มเทียนปีหนึ่งประมาณ ๕๐๐ รูป 
และเมื่อถึงวันเข้าพรรษาพระราชพิธีที่สำคัญอีกอย่างหนึงคือ การเปลี่ยนเครื่อ่งทรง
ของพระแก้วมรกต จากเครื่องทรงฤดูร้อนเป็นฤดูฝน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเครื่องทรง
ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาของทุกปี

วิสัยทัศน์,เป้าหมาย,พันธกิจ,คุณลักษณะอันพึงประสงค์,ปรัชญาของโรงเรียน


วิสัยทัศน์  (Vision)
"โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์  มุ่งจัดการศึกษา  เพื่อวางพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ของนักเรียนให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม  ก้าวทันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รู้จักแก้ปัญหา
อย่างมีเหตุผล  รู้จักสรรค์สร้างสังคม  ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้  มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์
อนุรักษ์และพัฒนาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  คงไว้ซึ่งความเป็นไทยมีทักษะ  มีความรอบรู้  
มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม   พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ"
เป้าหมาย
หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี    
มีปัญญา มีความสุข มีความเป็นไทย  และความเป็นสากล  มีศักยภาพในการศึกษาต่อ  และประกอบอาชีพ     
จึงกำหนดจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1. โรงเรียนมีระบบบริหารและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
2. โรงเรียนมีมาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานด้านกระบวนการ และมาตรฐานด้านปัจจัยผ่านเกณฑ์
มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. นักเรียนมีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์แข็งแรง  เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม  มีคุณลักษณะที่พึ่ง
ประสงค์ตามที่สังคมและประเทศชาติต้องการ
พันธกิจของโรงเรียน
1. จัดการศึกษาให้บรรลุตามจุดหมายของหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  และหลักสูตร
มัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปัจจุบัน
2. พัฒนาระบบบริหารและการจัดการของโรงเรียนให้สนองตอบต่อภาระงานที่ปฏิบัติ
3. พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยการคิดค้นสร้างสรรค์ และ
สรุปข้อความได้ด้วยตนเอง  และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้
4. จัดหาเครื่องมือ วัสดุ สื่อการสอนต่าง ๆ และสื่อที่ทันสมัยให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และต่อ
การพัฒนาคุณภาพของการปฏิบัติงาน
5. พัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอน  โดยการจัดศูนย์ศึกษาและห้องเรียนพิเศษที่สนองตอบ
ความต้องการในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
6. พัฒนาอาคารสถานที่และจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในอาคารเรียน ภายนอกอาคารเรียน  และ
บริเวณโรงเรียนให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์  เอื้อต่อการเรียนรู้และเอื้อต่อสุขภาพจิตมีความสวยงาม ร่มรื่น
7. พัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. จัดสวัสดิการและสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรของโรงเรียนตามโอกาสและสถานการณ์

คุณลักษณะอันพึงประสงค์
โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง  คนดี
และสามารถดำรงชีวิตเอื้อเฟื้ออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะดังนี้
1.  มีระเบียบวินัย
2.  มีจรรยาเรียบร้อย
3.  มีความประพฤติดี
4.  มีความอดทน
5.  มีความกตัญญู เสียสละ บำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเองและสังคม 

ปรัชญาของโรงเรียน  “ปญฺญา  โลกสฺมึ   ปชฺโชโต ปัญญา   เป็นแสงสว่างในโลก”
สัญลักษณ์ของโรงเรียน รูปเทียนมีรัศมีแผ่ครอบคลุมเทียนและอักษรย่อ “ว.ผ.ศ.”  
มี “วิโรจน์ผดุงศาสน์”  อยู่ด้านล่าง    และมีฐานบัวรองรับ ซึ่งมีความหมายว่า โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ 
เป็นแหล่งศึกษาที่มั่นคงและ เป็นแหล่งความรู้ที่ระบือไกล
คติพจน์ของโรงเรียน  “เน้นการศึกษา  ใฝ่หาความรู้  มุ่งสู่คุณธรรม  นำพัฒนา”
สีประจำโรงเรียน “ สีเหลือง – ทอง ”
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของปัญญา
สีทอง หมายถึง ความสงบความประพฤติ
สีเหลืองทอง หมายถึง    ความเจริญรุ่งเรืองอันเกิดจากปัญญาและความประพฤติที่ดีงาม
ต้นไม้ประจำโรงเรียน “ ต้นพิกุล ”

ประวัติโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์



1.ประวัติย่อของโรงเรียน
1.1 สังกัด โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ สังกัด กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี  
โทร  0-4355-0469,0-4353-3180 รหัสโรงเรียน ปส 7045101007
1.2  ที่ตั้ง    วัดมิ่งเมือง  148  หมู่ที่ 3  ถนนพิศเพลินพานิช   ตำบลกลาง  อำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด    
รหัสไปรษณีย์  45120
1.3  ประวัติ    ก่อตั้งเมื่อวันที่  3  มิถุนายน  2534 ได้รับอนุญาตจัดตั้ง  จากกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ  
ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  ตามใบอนุญาตเลขที่   26  /  2535   ลงวันที่  22  มิถุนายน  2535  มีเนื้อที่จำนวน  2  ไร่  
25 ตารางวา  โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์”  ตามพระราชทินนามของพระเดชพระคุณ 
พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์  (บุญเรือง ปภสฺสโร)  อดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองรูปแรก   ซึ่งท่านได้นำเอาการศึกษามาพัฒนา  
ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนในด้านนี้ เป็นกรณีพิเศษ   ดังนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์จึงได้ให้นามโรงเรียนว่า  
“โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์”   ใช้อาคาร โรงเรียนพระปริยัติธรรม  เปิดเรียนครั้งแรก เมื่อวันที่  3  มิถุนายน  2534   
โดยรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา  ปีที่ 1  จำนวน  26  รูป  จำนวน  1  ห้องเรียน  มีครูที่ทำการสอน  
จำนวน  10  คน/รูป  เป็นบรรพชิต  3  รูป   ต่อมาในปีการศึกษา  2537  ได้รับอนุญาตให้เปิดระดับ
มัธยมศึกษาตอนปลาย  ตามทะเบียนอนุญาต  เลขที่ 7  /  2537  
การจัดการเรียนการสอนจัดให้มีแผนการเรียน วิทย์ – คณิต  
การจัดตั้งโรงเรียนในปีการศึกษา  2534 ไม่ได้รับงบประมาณจากทางราชการ คณะกรรมการพัฒนา
วัดมิ่งเมือง ได้ปรึกษาหารือให้ใช้เงินบำรุงวัดส่วนหนึ่ง และดอกผลจาก  “มูลนิธิปภัสสรปัญญาพล” 
เป็นค่าดำเนินการต่าง ๆ 
1.4  สภาพปัจจุบัน  โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์  เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  จัดการเรียนการสอน             
ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ. 2544  อาคารเรียนถาวร  1  หลัง  
อาคารสำนักงานสองชั้น     
ชั้นแรกเป็นห้องผู้บริหารและห้องพักครู รวม  4  ห้อง  
ชั้นที่สองเป็นศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์            
อาคารห้องสมุดเอกุตรสตาธิคุณานุสรณ์ สองชั้น 
ชั้นแรกเป็นห้องสมุด 
ชั้นที่สองเป็นห้องประชุมครู

ภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม
ที่ตั้งของโรงเรียนเป็นที่โนนสูง  สภาพดินเป็นหินกรวด  แหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้  สระโชติ 
น้ำที่ใช้เป็นน้ำที่ได้จากการขุดบ่อบาดาล โรงเรียนตั้งอยู่ห่างจากตลาดประจำอำเภอประมาณ  1 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อหมู่บ้านที่อยู่อาศัย
ทิศใต้ ติดต่อถนนอัครบุตรพิศาล
ทิศตะวันออก ติดถนนพิศเพลินพาณิช
ทิศตะวันตก ติดหมู่บ้านที่อยู่อาศัย
จุดประสงค์การจัดตั้ง
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาเข้ารับการศึกษา
เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทางด้านปริยัติธรรมและด้านสามัญศึกษาควบคู่กันไป
เพื่อพัฒนาการเรียนรู้แก่เยาวชนให้มีความรู้ควบคู่กับคุณธรรม
เพื่อสร้างศาสนาทายาทในทางพระพุทธศาสนา
สภาพชุมชน
โรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ ตั้งอยู่ที่วัดมิ่งเมือง ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งตั้งอยู่          
ชุมชนเมืองเก่า สภาพแวดล้อมประกอบไปด้วยชุมชนเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย และ     
รับราชการ

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กลอนผู้อำนวยการ

                      พระมหา ดร.ประภาส ปริชาโน (ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.,Ph.D.)
                             ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์


จากวันนั้นถึงวันนี้

จากบ้านนา ป่าดง พงษ์ไพสัณฑ์
มาถึงวัน สำเร็จ อย่างล้นเหลือ
มีวิโรจน์ ผดุงศาสน์ คอยจุนเจือ
ช่วยหนุนเกื้อ เอื้อวิชา บรรดามี

เรามันจน ข้นแค้น แสนลำบาก
จะหากิน หาอยาก ยากทุกที่
เพราะเรียนน้อย ด้อยรู้ คู่ชีวี
น่าสงสาร อย่างนี้ ที่เล่ามา

พ่อและแม่ นำฝาก ให้ได้บวช
ฝึกฉันสวด เขียนอ่าน การศึกษา
คำสั่งพ่อ "ตั้งใจ" นะลูกยา
จดจำมา ไว้คิด จิตสอนตน

ได้ฟันฝ่า ต่อสู้ จนวันนี้
มีดีกรี ดอกเตอร์ ไม่สับสน
เพราะตั้งใจ มุ่งมั่น คู่อดทน
สู้ดิ้นรน สำเร็จ เป็นเพชรงาม

หากไม่มี วิโรจน์ ผดุงศาสน์
คงมิอาจ ได้เรียน เพียรหรอกหนา
ขอบพระคุณ หลวงพ่อ ที่เมตตา
ชี้นำพา ถึงฝั่ง ดั่งหวังเอย ฯ